“iTIC” ร่วมกับ กระทรวงคมนาคม ขับเคลื่อนการจราจรอัจฉริยะ “แก้ปัญหาจราจร ลดอุบัติเหตุอย่างยั่งยืน”

“iTIC” ร่วมกับ กระทรวงคมนาคม ขับเคลื่อนการจราจรอัจฉริยะ “แก้ปัญหาจราจร ลดอุบัติเหตุอย่างยั่งยืน”

       มูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย (Intelligent Traffic Information enter Foundation) หรือ iTIC” ร่วมกับ กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สมาคมระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะไทย และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนา     “4th iTIC FORUM 2023: Power of Connectivity and Smart Mobility” เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้าน Connectivity and Smart Mobility ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยกระดับการพัฒนาระบบขนส่ง การจราจรอัจฉริยะและลดอุบัติเหตุในประเทศไทยแบบ real-time เนื่องจาก ประเทศไทยมีอุบัติเหตุเป็นอันดับ 9 ของโลก  มีผู้เสียชีวิต 17,379 คน/ปี หรือ กว่า 48คน/วัน มีฝุ่นควันพิษมากเป็นอันดับที่ 30 ของโลก และกรุงเทพมหานครรถติดเป็นอันดับ 32 ของโลก

 

        โดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวเปิดงาน และปาฐกถาพิเศษ “ความพร้อมของการเชื่อมต่อ โครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทย” ในงานครั้งนี้ว่า “การสัมมนาในครั้งนี้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่มุ่งเน้น 4 แนวทางหลักคือ 1.เปิดประตูการค้า การท่องเที่ยว ด้วยการพัฒนารถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ส่งเสริม และพัฒนาระบบโครงข่ายทางถนน และทางพิเศษให้ครอบคลุมความต้องการเดินทางของประชาชน ตลอดจนส่งเสริมพัฒนาระบบการขนส่งสินค้าทางน้ำที่มีต้นทุนต่ำที่สุด ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบัง ตลอดจนการศึกษาโครงการ Land Bridge เชื่อมทะเลอันดามัน และอ่าวไทย 2.เน้นความปลอดภัยลดอุบัติเหตุในการเดินทางของประชาชน 3.เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี และลดต้นทุนในการเดินทาง 4. เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น Green Transport ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และ PM 2.5 โดยส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกในการเดินทาง รวมทั้งการบูรณาการ ร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการจราจร กระทรวงคมนาคมได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน บริการครอบคลุมการเดินทาง อาทิ รถไฟใต้ดิน บนดิน ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปัจจุบันเปิดให้บริการทั้งสิ้น 12 เส้นทาง ระยะทางรวม 276.84 กิโลเมตร ถนนทางหลวง ทางหลวงชนบท และทางหลวงท้องถิ่นรวมระยะทาง 707,364.25 กิโลเมตร”

 

        นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย (Intelligent Traffic Information enter Foundation) หรือ “ iTIC” กล่าวว่า “มูลนิธิฯ พร้อมระดมพลังความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และเอกชนขับเคลื่อนข้อมูล Big Data ระหว่างหน่วยงานต่างๆ นำมาประมวลผล วิเคราะห์ข้อมูลแก้ปัญหาจราจร และลดอุบัติเหตุแบบ real-time เช่น การปิดจราจร อุบัติภัย ไฟไหม้ เมฆฝน และน้ำท่วม ภัยพิบัติ หรือแม้กระทั่ง ฝุ่น PM2.5 ตลอด 24 ชั่วโมง ที่สำคัญ มีการแจ้งเตือนการเกิดอุบัติเหตุ ให้ผู้ขับขี่ที่เดินทางไปในบริเวณรัศมี 5 กิโลเมตรจากจุดเกิดเหตุ iTIC รายงานข้อมูลแบบ Real time traffic โดยใช้ข้อมูลจาก Vehicle Probe กว่า 100,000 คัน ที่วิ่งอยู่ทั่วประเทศมาประมวลผล แสดงบน Digital Map มีกล้อง CCTV รวมทั้งหมด 282 กล้อง อนาคตมีแผนขยายการเชื่อมต่อกล้อง CCTV จากเทศบาลเมืองภูเก็ต อุดรธานี หนองคาย เชียงใหม่ และอีกหลายจังหวัด กล้อง CCTV นอกจากใช้ประโยชน์ในการดูสภาพจราจรแบบ Real time แล้ว ยังใช้ในการวิเคราะห์สาเหตุของอุบัติเหตุ มีการเสนอจุดฝืดของจราจร 20 จุดใน กทม. รวมทั้งจุดเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุที่กทม. และ ฉะเชิงเทรา”

 

         ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  กล่าวถึง “แนวคิดใหม่ในการสัญจรของคนกรุง” การเดินทางที่ดีเป็นนโยบายของกทม. ที่มุ่งเน้นให้ผู้คนเดินทางให้เกิดความสะดวกสบายและปลอดภัย แต่ปัจจุบันยังพบว่าปัญหาการเดินทางของประชาชน คือ การเชื่อมต่อจุดหมายปลายทางของการเดินทาง บางเส้นทางโครงข่ายรถไฟฟ้ายังไปไม่ถึง ที่ผ่านมากทม.ได้มีการทำแพลตฟอร์ม Traffic Fongdu ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มแจ้งเรื่องร้องเรียนถึงปัญหาต่างๆของประชาชนในกรุงเทพฯ ประมาณ 300,000 เรื่อง พบว่าปัญหาที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามาส่วนใหญ่ คือ เรื่องปัญหาการเดินทางถนนและปัญหาบนทางเท้า ทั้งนี้กทม.มีแผนจะปรับปรุงทางเท้าใหม่ โดยใช้มาตรฐานใหม่ในการก่อสร้างทั้งวัสดุผิวทางเท้า,คอนกรีตเสริมเหล็กหนาประมาณ 10 ซม. ทั้งยังมีแผนดำเนินการก่อสร้างทางเดินสำหรับกันแดดและการฝนเพื่อเชื่อมต่อป้ายรถประจำทางและสถานีรถไฟฟ้า นอกจากนี้ขณะเดียวกันกทม.ยังมีโครงการแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพฯด้วยการติดตั้งระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรเป็นพื้นที่ (ATC) โดยเป็นการนำข้อมูล Probe Data มาใช้ในพื้นที่โครงการ ซึ่งจะช่วยลดความล่าช้าการเดินทางในชั่วโมงเร่งด่วนลง 10% และลดความล่าช้าการเดินทางนอกชั่วโมงเร่งด่วนลง 30% โดย กทม.มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาจุดฝืด-จุดรถติด เพื่อแก้ปัญหาการจราจรและลดอุบัติเหตุในกรุงเทพฯ อย่างยั่งยืน

 

        ในช่วงเช้าของการสัมมนายังมีการบรรยายพิเศษ โดยได้รับเกียรติจาก Vehicle Information and Communication Systems (VICS) และ Intelligent Transportation Society of Taiwan (ITS Taiwan) มาแบ่งปันประสบการณ์ความสำเร็จในการแก้ปัญหาจราจร และลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ตลอดจนเทคโนโลยีการเดินทางอัจฉริยะ รวมทั้ง บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ (EA)  ได้แลกเปลี่ยนความรู้เรื่อง “ศักยภาพของเอกชนไทยในการขับเคลื่อนสมาร์ทโลจิสติกส์ รถ-เรือ-ราง ด้วย Green Transportation”

 

        หลังจากนั้นจะเป็นช่วง เสวนา นำโดย ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในหัวข้อ “โอกาสของไทยในการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมแห่งภูมิภาคเชื่อมไทยเชื่อมโลก” สร้างระบบ Feeder ไปยังสถานีขนส่งมวลชนได้อย่างไร โดยมี กรมการขนส่งทางราง การรถไฟแห่งประเทศไทย การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และบริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) ร่วมเสวนาในครังนี้

 

       ในช่วงบ่าย รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รศ.ดร. วิศณุ ทรัพย์สมพล ได้นำเสนอ “แนวคิดใหม่ในการสัญจรของคนกรุง” หลังจากนั้น บริษัท ช.การช่าง โดย ดร.สุภามาส ตรีวิศวเวทย์ ได้กล่าวถึง “การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางอัจฉริยะและสังคมที่ยั่งยืนในประเทศไทย” ได้อย่างน่าสนใจ

 

       รวมทั้ง บริษัท ไอโออิ กรุงเทพ ประกันภัย โดย คุณ ฮิเดโอะ อิวาซาวะ ก็ได้แบ่งปันความรู้การใช้ข้อมูลในการสร้างคุณค่าร่วมกันผ่านการเสวนา นำโดย นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้กล่าวถึงประสบการณ์ และยกตัวอย่างการลดอุบัติเหตุ รวมทั้งการช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บบนถนน ของจังหวัดขอนแก่น Model ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ว่าทำอย่างไร โดยมี กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมการขนส่งทางบก ร่วมการเสวนาครั้งนี้

 

        สุดท้ายเป็นการเสวนาหัวข้อ “พลังของข้อมูลในระบบคมนาคมขนส่งสู่อนาคต” และยังมีการจัดนิทรรศการโดยผู้สนับสนุนหลัก SME และ Start up ถึง 30 บูท ปิดท้ายด้วย Big Surprise ช่วงท้ายของงาน โดยมีผู้สนใจทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนกว่า 300 รายเข้าร่วมงานสัมมนาดังกล่าว

Tags :

view