ฟอร์ด ประเทศไทย เชิญ “ทีมงาน Speedxonline/onairFM89.5” พร้อมคณะสื่อมวลชนร่วมกิจกรรมทดสอบขับรถฟอร์ด เรนเจอร์ เจเนอเรชันใหม่ เป็นครั้งแรก ทั้งบนถนนเรียบและแบบออฟโรด ในเส้นทางภูเก็ต - พังงา - กระบี่ โดยกิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘Unlimit Your Experience’ สื่อถึงการเปิดประสบการณ์ครั้งใหม่ การก้าวข้ามขีดจำกัดเดิมๆ ไปกับรถฟอร์ด เรนเจอร์ เจเนอเรชันใหม่ รุ่นไวลด์แทรค และรุ่นสปอร์ต
เริ่มต้นด้วยการบรรยายข้อมูลผลิตภัณฑ์ การออกแบบ และเทคโนโลยีของฟอร์ด เรนเจอร์ เจเนอเรชันใหม่ โดยทีมวิศกรและนักออกแบบรถฟอร์ดจากประเทศออสเตรเลียและไทย รวมถึงการทดลองสตาร์ทรถจากระยะไกลด้วยแอปพลิเคชันฟอร์ดพาสก่อนออกเดินทาง
ความอเนกประสงค์ของรถยนต์ฟอร์ด เรนเจอร์ เจเนอเรชันใหม่ ทั้งการเป็นรถยนต์คู่ใจสำหรับการทำงาน และการเป็นรถยนต์สำหรับครอบครัว ด้วยกระบะท้ายที่รองรับการจัดเรียงสิ่งของให้เป็นระเบียบในหลากหลายรูปแบบ (Cargo management system) บันไดเหยียบข้างกระบะท้ายที่ทำให้การเข้าถึงท้ายกระบะเป็นเรื่องง่าย การใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเชื่อมระบบไฟจากช่องจ่ายไฟในกระบะท้ายเพื่อทำงานช่างหรือจ่ายไฟให้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิสต์ต่างๆ การออกแบบพื้นที่เก็บของใต้ที่นั่งใหม่ เพิ่มพื้นที่เก็บของใต้เบาะหลังเพื่อความเป็นระเบียบ สามารถเก็บสัมภาระของทุกคนในครอบครัวได้โดยที่นั่งยังคงกว้างขวางนั่งสบาย รวมถึงห่วงยึดสัมภาระบนขอบกระบะท้ายที่ออกแบบมาเพื่อให้บรรทุกอุปกรณ์สันทนาการของทุกคนได้เวลาเดินทางท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นเซิร์ฟบอร์ดของคุณพ่อ หรือจักรยานของคุณลูก
สำหรับฟอร์ด เรนเจอร์ เจเนอเรชันใหม่ มาพร้อมตัวเลือกเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบเดี่ยว และเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบคู่ขนาด 2.0 ลิตร 4 สูบแถวเรียง โดยในรุ่นไวลด์แทรคเป็นเครื่องยนต์เทอร์โบคู่ 2.0 ลิตร จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 10 สปีด มีตัวเลือกทั้งแบบขับเคลื่อนสี่ล้อ และขับเคลื่อนสองล้อเป็นครั้งแรก มอบพละกำลัง 210 PS ที่ 3,750 รอบต่อนาที แรงบิด 500 นิวตันเมตร ที่ 1,750-2,000 รอบต่อนาที ส่วนรุ่นสปอร์ตจะเป็นเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบเดี่ยว 2.0 ลิตร จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด ให้กำลัง 170 PS ที่ 3,500 รอบต่อนาทีและแรงบิด 405 นิวตันเมตร ที่ 1,750-2,500 รอบต่อนาที และยังมีอีกรุ่นคือ ไวลด์แทรค 4x2 เครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบเดี่ยว 2.0 ลิตร จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด มอบพละกำลัง 170 PS ที่ 3,500 รอบต่อนาที แรงบิด 405 นิวตันเมตร ที่ 1,750-2,000 รอบต่อนาที
ช่วงแรกได้ทดลองการขับบนทางหลวงที่มีทั้งทางตรงสลับโค้ง โดยสัมผัสได้ถึงสมรรถนะของเครื่องยนต์ ความสบายภายในห้องโดยสารที่ให้ความรู้สึกนุ่มนวลเหมือนรถเก๋ง และเสถียรภาพในการขี่ที่เพิ่มขึ้น ด้วยฐานล้อที่กว้างและยาวขึ้นของฟอร์ด เรนเจอร์ เจเนอเรชันใหม่ รวมถึงการทดลองเทคโนโลยีช่วยในการขับขี่อย่างระบบควบคุมความเร็วแบบรักษาระยะห่างอัตโนมัติ พร้อมระบบ Stop & Go และระบบควบคุมรถให้อยู่ในช่องทาง (Adaptive Cruise Control with Stop-and-Go and Lane Centering) ฟีเจอร์ใหม่ในฟอร์ด เรนเจอร์ ที่ช่วยให้การเดินทางปลอดภัยยิ่งขึ้น
เมื่อเดินทางมาถึง ‘ฟอร์ด เรนเจอร์ วิลล์’ (Ford Ranger Ville) สนามออฟโรดที่ออกแบบเป็นพิเศษเพื่อทดสอบสมรรถนะและการเลือกใช้โหมดการขับขี่ที่ติดตั้งมาในรถฟอร์ด เรนเจอร์ เป็นครั้งแรก สื่อมวลชนได้ประเดิมประสบการณ์การขับขี่ออฟโรดสุดท้าทาย
สถานีที่ 1 การพิชิตเนินชัน ‘Hill Maneuvering’ โดยใช้โหมดการขับขี่ปกติ (Normal mode) คู่กับระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ (4H) รวมถึงทดสอบความโดดเด่นของสมรรถนะช่วงล่าง และการไต่ลงเนินชันด้วยระบบควบคุมความเร็วขณะลงเขา (Hill Descent Control) ที่ช่วยปรับความดันเบรกอย่างต่อเนื่อง ลดการลื่นไหลและรักษาความเร็วให้คงที่เมื่อขับลงทางลาดชัน ผู้ขับขี่จึงให้ความสนใจกับการควบคุมพวงมาลัยได้อย่างเต็มที่และมีความมั่นใจมากขึ้น ด้วยมุมจากด้านหลัง 23 องศา (เพิ่มจาก 21 องศาในรุ่นก่อนหน้า) ด้วยฐานล้อที่กว้างและยาวขึ้นของฟอร์ด เรนเจอร์ เจเนอเรชันใหม่ ช่วยเพิ่มความมั่นคงในการขับขี่ ช่วยให้ควบคุมรถได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อเนื่องด้วยการขับผ่านแอ่งน้ำ ‘Water Wading’ แบบสบายๆ
สถานีที่ 2 ด้วยความสามารถในการลุยน้ำลึกได้สูงสุดถึง 800 มิลลิเมตร โดยในสถานีที่ 1 และ 2 นี้ สื่อมวลชนได้ใช้กล้องมองรอบคัน 360 องศา เพื่อช่วยมองอุปสรรคที่อยู่นอกตัวรถระหว่างการขับขี่ได้อย่างชัดเจน
สถานีที่ 3 เราจะได้ใช้โหมดการขับขี่บนถนนลื่น (Slippery Track) โดยระบบจะช่วยกระจายแรงบิดของเครื่องยนต์ไปยังทั้ง 4 ล้อเพิ่มความมั่นใจในการขับขี่บนถนนลื่นหรือพื้นถนนที่ไม่สม่ำเสมอ และยังได้สัมผัสถึงมุมมองในการขับขี่ในพื้นที่แคบที่ดีขึ้นด้วยการออกแบบดีไซน์ฝากระโปรงหน้าใหม่ที่ช่วยให้กะระยะในการผ่านอุปสรรคต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย รวมถึงการใช้กล้องมองรอบคัน 360 องศา เป็นตัวช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถมองเห็นด้านนอกรถให้ควบคุมทิศทางของพวงมาลัยและบังคับทิศทางของรถให้ผ่านอุปสรรคบนเส้นทางได้
สถานีที่ 4 ทางโคลน (Mud Track) เป็นการขับขี่ด้วยโหมดโคลน (Mud Mode) โดยใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ (4H) พร้อมโชว์การทำงานของระบบล็อกเฟืองท้าย (Locking rear differential) ที่ช่วยถ่ายเทกำลังของเครื่องยนต์ไปยังล้อทั้ง 4 ทำให้ผ่านเส้นทางโคลนหรือถนนลื่นๆ ไปได้อย่างง่ายดาย
สถานีที่ 5 พื้นกรวด ‘Loose Surface’ ด้วยการปรับโหมดการขับขี่กลับสู่โหมดการขับขี่บนถนนลื่น (Slippery mode) เพื่อทดสอบการขับขี่บนพื้นผิวถนนที่เป็นทางหินกรวด เพื่อกำลังของเครื่องยนต์ และการตอบสนองของระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว ความนุ่มนวลในการเปลี่ยนเกียร์ขณะใช้รอบเครื่องยนต์ที่สูงขึ้นขณะขับขี่ที่ความเร็วสูง
สถานีที่ 6 ขับขี่ลุยทางหิน ‘Rocky Terrain’ เราจะได้ใช้โหมดการขับขี่ปกติ (Normal mode) พร้อมระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ (4L) และระบบล็อกเฟืองท้าย (Locking rear differential) เพื่อทดสอบแรงบิดของเครื่องยนต์ในรอบต่ำ และอัตราทดเกียร์ รวมถึงความสูงใต้ท้องรถและระบบช่วงล่างที่นุ่มนวล ต่อด้วยการขับขี่บนสภาพเส้นทางที่เป็นพื้นทราย ‘Sand Track’ ใน
สถานีที่ 7 ด้วยการใช้โหมดทราย (Sand mode) เราจะได้สัมผัสถึงระบบความคุมเสถียรภาพการทรงตัว และการกระจายแรงบิดของเครื่องยนต์ที่ทำให้รถผ่านอุปสรรคไปสู่สถานีที่ 8 ลุยทางออฟโรด (Off-Road Maneuvering) โดยใช้โหมดปกติ (Normal mode) พร้อมระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ (4H) ทดสอบการควบคุมพวงมาลัย การทรงตัวของรถ และความทรงพลังของเครื่องยนต์ แรงบิดและอัตราทดเกียร์อันชาญฉลาด โชว์ให้เห็นถึงสมรรถนะในการขับขี่ออฟโรดโดยรวมที่ดีขึ้นด้วยมุมเงยที่ 30 องศา (เพิ่มจาก 28.5 องศาในรุ่นก่อนหน้า)
สรุป Ford Ranger Wildtrak ลองขับในเส้นทางออฟโรดแล้วถือว่าสอบผ่านสบายๆ ตัวช่วยสำหรับการลุยคราวนี้มีมาระดับเดียวกับเจ้า Raptor เลยทีเดียว ขุมกำลังและระบบส่งกำลังปรับปรุงใหม่สามารถพาตัวรถผ่านได้ทุกอุปสรรค แต่บางจังหวะช่วงออกตัวบนทางเรียบแรงไปหน่อยล้อหลังจะมีอาการสไลด์ให้เห็น ดูแล้วถ้าผู้ขับไม่คุ้นชินอาจจะเสียวๆไปบ้างเหมือนกัน ช่วงล่างมาในแบบแน่นหนึบ บนทางเรียบเยี่ยมแต่ทางออฟโรดรู้สึก “ตึงตัง” มากไปหน่อย ส่วนการดีไซน์ทั้งภายนอกและภายในสวยงามถูกใจคนไทยอยู่แล้วครับ